วันที่ 18 สิงหาคม 2564

แบล็คลิสต์คืออะไร เรื่องสำคัญก่อนกู้เงินซื้อบ้าน

แบล็คลิสต์คืออะไร-เรื่องสำคัญก่อนกู้เงินซื้อบ้าน.jpg

หากอยากมีประวัติเครดิตที่ดี วินัยทางการเงินจึงเป็นหน้าที่ที่ควรระลึกไว้เสมอว่าควรใช้จ่ายอย่างประหยัดเฉพาะความจำเป็น แต่เมื่อสิ่งที่จำเป็นเปลี่ยนเป็นหนี้สิน การขาดการชำระหนี้หรือปล่อยคงค้างไว้นานจนเพิ่มพูน อาจต้องระวังการโดนแบล็คลิสต์ ซึ่งเสียทั้งเครดิต และเสียโอกาสทางด้านการเงินในการกู้สินเชื่อต่าง ๆ ดังนั้น เราจะพาไปทำความรู้จักกับการโดนแบล็คลิสต์ หรือเครดิตบูโร ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร และควรทำอย่างไรเมื่อติดแบล็คลิสต์ครับ

แบล็คลิสต์ (Blacklist) หรือ เครดิตบูโร คืออะไร?

แบล็คลิสต์ (Blacklist) คือการที่บุคคลใดก็ตามชำระหนี้ไม่ตรงกำหนด หรือติดหนี้บัตรเครดิตต่าง ๆ คงค้างเกิน 90 วัน เมื่อมีการขอสินเชื่อใหม่จึงไม่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโรจะคอยเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงิน เมื่อบุคคลใดยื่นทำธุรกรรมด้านการเงินจากธนาคาร เช่น กู้สินเชื่อบ้าน ทางธนาคารก็จะขอข้อมูลเครดิตทางการเงินจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด เพื่อตรวจสอบเครดิตด้านการเงินของเราก่อนจะอนุมัติให้กู้นั่นเองครับ

ประวัติแบล็คลิสต์เก็บย้อนหลังกี่ปี?

หากติดอยู่ในรายชื่อแบล็คลิสต์ในข้อมูลเครดิตบูโรแล้ว ตามกฎหมายข้อมูลของบุคคลธรรมดาและข้อมูลของนิติบุคคล ให้เก็บข้อมูลไว้ในระบบประมวลผลได้ไม่เกิน 3 ปี และ 5 ปีตามลำดับ นับตั้งแต่สถาบันการเงินรายงานข้อมูลมายังบริษัท โดยสถาบันการเงินจะรายงานข้อมูลใหม่แทนที่ข้อมูลเก่าที่มีอยู่ โดยอัปเดตทุก ๆ สิ้นเดือน ดังนั้น หากเราเช็คเครดิตบูโร หรือเช็คแบล็คลิสต์ดูด้วยตัวเอง เราก็จะได้ข้อมูลในระบบไม่เกิน 5 ปีครับ

ข้อมูลเครดิต คืออะไร?

ข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และจะปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดู ปัจจุบันข้อมูลเครดิตประกอบด้วยข้อมูล 2 ส่วนคือ

1. ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า

เช่น ชื่อ ที่อยู่ วัน/เดือน/ปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขทะเบียนนิติบุคคล เป็นต้น

2. ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ และประวัติการชำระสินเชื่อ

เช่น ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต รวมทั้งสถานะบัญชี

ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร?


แบล็คลิสต์คืออะไร-เรื่องสำคัญก่อนกู้เงินซื้อบ้าน_ข้อมูลเครดิตสำคัญอย่างไร.png

ข้อมูลเครดิต จะแสดงถึงประวัติการชำระหนี้ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล บ่งบอกถึงความสม่ำเสมอในการชำระหนี้และความน่าเชื่อถือ หรือที่เรียกว่า “เครดิต” ซึ่งมีความสำคัญต่อการประกอบธุรกิจ ดังนั้น สถาบันการเงินจึงขอข้อมูลจากการรายงานข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร เพื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ในการอนุมัติสินเชื่อ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ หลักประกัน เป็นต้น ดังนั้น ย่อมกล่าวได้ว่าผู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมีโอกาสได้รับสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมครับ

วิธีเช็กแบล็คลิสต์ ตรวจเครดิตบูโร ไปเช็กได้ที่ไหนบ้าง?

ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรนั้น ให้บริการทั่วประเทศ รวมถึงตามสถานีรถไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือแบบไปติดต่อด้วยตัวเอง, มอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน หรือยื่นตรวจสอบเครดิตบูโรผ่าน Mobile Banking


1. เจ้าของข้อมูลมาติดต่อด้วยตนเอง แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้


กรณีบุคคลธรรมดา

  • นำบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวบุคคลต่างด้าวตัวจริงนำมาแสดง
กรณีนิติบุคคล
  • สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม่เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงนำมาแสดง
  • ตราประทับของนิติบุคคล (ถ้ามี) เพื่อใช้ประกอบการยื่นขอคำขอตรวจสอบข้อมูลเครดิต

2. เจ้าของข้อมูลมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาดำเนินการแทน แสดงเอกสารหลักฐาน ดังนี้


กรณีบุคคลธรรมดา

  • หนังสือมอบอำนาจบุคคลธรรมดา กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้อง พร้อมตัวจริงมาแสดง


กรณีนิติบุคคล

  • หนังสือมอบอำนาจนิติบุคคล กรอกรายละเอียดและลงนามให้สมบูรณ์ครบถ้วน
  • สำเนาหนังสือรับรองของนิติบุคคล ที่รับรองไว้ไม้เกิน 3 เดือน และลงนามรับรองความถูกต้องโดยกรรมการผู้มีอำนาจประทับตราของนิติบุคคล (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และลงนามรับรองความถูกต้องพร้อมตัวจริงนำมาแสดง
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองความถูกต้องพร้อมตัวจริงนำมาแสดง
หมายเหตุ :
- ยื่นเอกสารในข้อ 1 และชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูลเครติดต่อเจ้าหน้าที่ของบริษัท
- เจ้าของข้อมูลสามารถขอรับรายงานภายในวันยื่นคำขอ หรือยื่นความจำนงให้จัดส่งรายงานทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (กรณีให้จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ฉบับละ 20 บาท)

ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร มีดังต่อไปนี้
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 และศูนย์ตรวจเครดิตบูโรเคลื่อนที่ (รถตู้จอดบริเวณลานจอดรถ) วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 15.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อกชั้น 3 (โซนธนาคาร) (BTS อารีย์ ทางออก 1)
  • วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 15.00 น. หยุดวันหยุดนักขัตฤกษ์
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (ภายในสถานี) วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ภายในสถานี) วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต (ภายในสถานี) วันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 15.00 น.
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร – สถานีรถไฟฟ้า BTS ชิดลม (ภายในสถานี) วันจันทร์ – อาทิตย์ (เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด) เวลา 9.00 – 16.30 น.
  • ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจเวนิว (นวนคร) ชั้น 3 ติดประกันสังคม
หมายเหตุ : เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ศูนย์ตรวจเครดิตบูโรปรับเวลาปิดบริการจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง สามารถตรวจสอบวันและเวลาทำการได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/ilovebureau

3. ยื่นตรวจสอบเครดิตบูโรทาง Mobile Banking


ลูกค้ากรุงไทย

ผ่านโมบายแอป “Krungthai Next”
– รูปแบบ E-Credit Report รับรายงานทางอีเมลใน 3 วันทำการ
– รูปแบบไปรษณีย์ลงทะเบียน รับรายงานที่บ้านใน 7 วันทำการ
– ค่าบริการ 150 บาท

ผ่านเว็บไซต์ www.ktb.co.th
– รูปแบบไปรษณีย์ลงทะเบียน รับรายงานที่บ้านใน 7 วันทำการ
– ค่าบริการ 150 บาท

======================


ลูกค้า TMB

ผ่านโมบายแอป “TMB TOUCH”
– รูปแบบ E-Credit Report รับรายงานทางอีเมลใน 3 วันทำการ
– รูปแบบไปรษณีย์ลงทะเบียน รับรายงานที่บ้านใน 7 วันทำการ
– ค่าบริการ 150 บาท

======================


ลูกค้าธนชาต

ผ่านโมบายแอป “Thanachart Connect”
– รูปแบบไปรษณีย์ลงทะเบียน รับรายงานที่บ้านใน 7 วันทำการ
– ค่าบริการ 150 บาท

======================


ลูกค้ากรุงศรี

ผ่านเว็บไซต์ www.krungsri.com
– รูปแบบไปรษณีย์ลงทะเบียน รับรายงานที่บ้านใน 7 วันทำการ
– ค่าบริการ 150 บาท

หมายเหตุ : กรณีชื่อ-นามสกุล อีเมล เบอร์โทรศัพท์มือถือ และที่อยู่ของท่านมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาปรับแก้ไขในระบบของธนาคารให้ถูกต้องก่อนใช้บริการ

เมื่อติดแบล็คลิสต์แล้ว ควรทำอย่างไร?

เหตุผลของการติดแบล็คลิสต์นั้น มาจากการจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลาเกิน 90 วัน จนไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ทางการเงินได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดเมื่อติดแบล็คลิส ควรปฏิบัติดังนี้

แบล็คลิสต์คืออะไร-เรื่องสำคัญก่อนกู้เงินซื้อบ้าน_เมื่อติดแบล็คลิสต์แล้ว-ควรทำอย่างไร.png

1. เจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้

การพูดคุยกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น ขอผ่อนระยะเวลาชำระหนี้ออกไป 10-12 เดือน เห็นจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด วิธีนี้นอกจากเราจะมีเวลาชำระหนี้ให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้ว สถาบันการเงินก็จะได้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่นี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียครับ

2. ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด

เมื่อเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อผ่อนผันการชำระหนี้แล้ว ควรชำระหนี้ให้ตรงเวลาตามกำหนดเพื่อรักษาเครดิตด้านการเงิน และควรเก็บเอกสารการชำระหนี้ทุกชิ้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันในการยื่นขอกู้สินเชื่อครั้งใหม่หลังจากพ้นแบล็คลิสต์นั่นเองครับ (พ้นแบล็คลิสต์ได้ภายใน 3 ปี) และในช่วงระยะเวลาที่กำลังเคลียร์หนี้คงค้าง พยายามอย่าสร้างหนี้สินเพิ่มนะครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะเพิ่มพูนภาระหนี้โดยไม่จบไม่สิ้น

3. ขายทรัพย์สินบางอย่างเพื่อนำเงินมาชำระหนี้

วิธีนี้จะทำให้ปลดหนี้ได้ไวยิ่งขึ้น โดยการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ หรือเงินก้อนที่ได้มาจากโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ก็อาจจะแบ่งเงินส่วนนี้นำมาชำระหนี้ให้หมดเร็วที่สุด

4. ตรวจสอบข้อมูลเครดิต

หลังจากชำระหนี้สินเสร็จสิ้นหมดแล้ว อย่าลืมเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเองที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร เพื่ออัปเดตข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และต้องรออย่างน้อย 3 ปี (นับจากวันที่ปิดบัญชีหนี้เสีย) จึงจะพ้นประวัติการถูกแบล็คลิสต์ และสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อีกครั้งครับ

5. รักษาเครดิตให้ดีสม่ำเสมอ

หลังจากที่เคลียร์ปัญหาแบล็คลิสต์ที่เกิดจากหนี้คงค้างเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตอาจมีเหตุฉุกเฉินให้ต้องเปิดบัตรเครดิตใหม่ ดังนั้น ไม่ควรทำบัตรเครดิตหลายใบ และเมื่อรูดสินค้าอะไรก็ตามควรชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด เพื่อป้องกันการจ่ายล่าช้าจนติดแบล็คลิสต์หรือเครดิตบูโรอีกครับ

จริง ๆ การจะถูกแบล็คลิสต์จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ หากเราชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนดและหมดสิ้น ไม่คงค้างเกินกำหนด 90 วัน เราก็จะไม่ถูกขึ้นบัญชีดำจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือเครดิตบูโร ดังนั้น การมีวินัยทางการเงิน คิดไตร่ตรองก่อนซื้อ และรู้จักใช้เงินในสิ่งที่จำเป็น จะช่วยลดภาระหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ครับ
อ่านเพิ่มเติม