วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

ข้อควรรู้ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้านของคู่รักชายหญิง LGBT

ทำไมหลายครอบครัวมักจะกู้ร่วมซื้อบ้าน?

สิ่งที่ควรรู้ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้านของคู่รักชายหญิง-lgbt.png

สำหรับคู่รักคู่ไหนที่แพลนจะแต่งงานหรือจะเป็นคู่รัก LGBT ที่คิดจะมีบ้านสักหลัง คงเป็นเรื่องที่ดีหากจะยื่นกู้ร่วมซื้อบ้านด้วยกันเพื่อให้ธนาคารอนุมัติได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังจากทำการกู้ร่วมซื้อบ้านแล้วก็อาจไม่ได้มีเรื่องดีเสมอไป มาดูกันว่าทำไมเราถึงต้องกู้ร่วมซื้อบ้าน และข้อควรระวังมีอะไรบ้างครับ


การกู้ร่วมคืออะไร


การกู้ร่วม คือ การทำสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน คล้ายกับการค้ำประกันให้อีกฝ่าย เพื่อให้ทางธนาคารเห็นว่าจะมีอีกคนมารับผิดชอบในการชำระหนี้ และมีความสามารถในการผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ตามสัญญา นำไปสู่การอนุมัติการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น


คุณสมบัติของผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน

  • ต้องมีหลักฐานรายได้ที่ชัดเจน
  • มีประวัติการชำระหนี้ที่ตรงต่อเวลา
  • มีรายได้เพียงพอที่จะร่วมรับผิดชอบภาระหนี้กับเราได้
  • ควรกู้ร่วมกับบุคคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หรือสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว
  • ปล. หากเป็นคู่รักที่ยังไม่จดทะเบียนสมรสร่วมกัน อาจมีปัญหาในการโอนกรรมสิทธิ์ในภายหลัง ทำให้เรื่องดำเนินการช้าหากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้

ข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้าน


  • ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
  • เพิ่มวงเงินมากกว่าเดิม
  • สามารถผ่อนชำระได้มากขึ้น
  • ช่วยกระจายความเสี่ยง
  • สร้างความน่าเชื่อถือต่อธนาคาร

การกู้ร่วมของกลุ่มคู่รัก LGBT 


ตอนนี้บางธนาคารได้มีนโยบายออกมาซัพพอร์ตกลุ่มคู่รัก LGBT เนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" แล้ว เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่ง "คู่ชีวิต" ในที่นี้ หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ.นี้ ดังนั้น เมื่อกลุ่มคู่รัก LGBT อยากจะร่วมสร้างรากฐานด้วยกันแล้ว ก็ย่อมได้รับสิทธิ์ทางธุรกรรมเท่าเทียมกับคู่รักปกติทั่วไป เช่น การกู้สินเชื่อร่วมกัน เป็นต้น

ธนาคารที่กลุ่มคู่รัก LGBT สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้


ธนาคารที่มีนโยบายให้สินเชื่อบ้านระหว่างผู้กู้ร่วม LGBT ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารยูโอบี โดยทั่วไปธนาคารจะพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อจากคุณสมบัติของผู้กู้ โดยปกติจะดูความน่าเชื่อถือว่ามีกำลังในการผ่อนหนี้ต่อเดือนได้หรือไม่ ตามเงื่อนไขของสเตทเมนท์เงินเดือน ภาระหนี้ และอายุขั้นต่ำ ซึ่งแต่ละธนาคารก็จะกำหนดไว้ไม่เท่ากันครับ

1. ธนาคารไทยพาณิชย์

คุณสมบัติผู้กู้ร่วมซื้อบ้านเอกสารในการขอสินเชื่อเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ย
  • คู่รัก LGBT ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 65 ปี โดยพิจารณาจากผู้กู้ร่วมที่อายุน้อยที่สุด
  • ประกอบอาชีพสุจริตและมั่นคง
  • มีรายได้แน่นอน และต้องสูงกว่าอัตราผ่อนชำระในแต่ละงวด หรือประมาณ 3 เท่า
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือน และ สลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย
  • งเงินกู้สูงสุด 95% ของราคาประเมินที่อยู่อาศัย
  • ระยะเวลาในการผ่อนนานถึง 30 ปี
  • ไม่เคยเป็นลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
  • สามารถกู้เพิ่มได้ 10% ของราคาซื้อขาย กรณีซื้อบ้านที่ธนาคารสนับสนุน
  • สามารถกู้เพิ่มได้อีก 5% ของราคาประเมินเพื่อซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค
อัตราดอกเบี้ยคงที่ MRR 5.995
ที่มา: รายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพานิชย์

2. ธนาคารกสิกรไทย

คุณสมบัติผู้กู้ร่วมซื้อบ้านเอกสารในการขอสินเชื่อ เงื่อนไขสินเชื่อ ดอกเบี้ย 
  •  คู่รัก LGBT ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลากู้ต้องไม่เกิน 70 ปี
  • ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมต้องมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือนและสลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย
  • วงเงินกู้สูงสุด 95% ของราคาซื้อขาย
  • ระยะเวลาในการผ่อนนานสูงสุด 30 ปี
  • กู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน
  • มนุษย์เงินเดือน หรือผู้มีรายได้ประจำ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 5.20%
  • กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหรือกลุ่มผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 5.70%
ที่มา: รายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกร

3. ธนาคารยูโอบี

คุณสมบัติผู้กู้ร่วมซื้อบ้านเอกสารในการขอสินเชื่อเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ย
  • บุคคลธรรมดา สัญชาติไทย
  • ผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
  • ทั้งคู่ต้องมีอายุขั้นต่ำ 21 ปี รวมระยะเวลากู้
  • อายุไม่เกิน 70 ปี สำหรับผู้กู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำทั่วไป และหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
  • อายุไม่เกิน 75 ปี สำหรับเจ้าของกิจการ
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล(ถ้ามี)
  • หนังสือรับรองเงินเดือนและสลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย
  • กรณีประกอบอาชีพอิสระ/ธุรกิจส่วนตัว ต้องมีทะเบียนการค้า หนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ และหนังสือบริคณห์สนธิ
  • วงเงินกู้สูงสุด 90% ของราคาซื้อขาย
  • ระยะเวลาในการผ่อนนานสูงสุด 30 ปี
  • ผู้กู้ต้องมีอายุการทำงานอย่างน้อย 2 ปี (หรือ 3 ปี สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ/ธุรกิจส่วนตัว)
  • อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบัน เท่ากับ 7.35% (ตามประกาศธนาคาร ณ วันที่ 13 เม.ย.63) อนึ่ง ธนาคารสามารถประกาศปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย MRR ได้ตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอนุญาตไว้
ที่มา: รายละเอียดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารยูโอบี

เงื่อนไขการกู้ร่วมของกลุ่มคู่รัก LGBT
  1. ในการกู้ร่วม คู่รัก LGBT จะต้องมีเอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  2. คู่รัก LGBT จะสามารถกู้ได้สูงสุด 90-95% เท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่คุณสมบัติและความมั่นคงทางอาชีพหรือการเงินของผู้กู้เป็นหลักด้วย

เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกันของคู่รัก LGBTQ+
นอกจาก เอกสารทั่วไปที่ต้องใช้ในการยื่นกู้สินเชื่อ แล้ว กลุ่มคู่รัก LGBT ต้องเตรียมเอกสารรับรองการอยู่ร่วมกันเพื่อยืนยันว่าคู่ของเรามีคุณสมบัติที่จะทำให้ธนาคารอนุมัติได้ อาจจะเป็น
  1. ทะเบียนบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกัน
  2. ชื่อการกู้ร่วมซื้อรถยนต์ร่วมกัน
  3. สลิปการเติมน้ำมันให้กับรถยนต์ที่เป็นชื่อคู่รักเป็นประจำ
  4. เอกสารอื่น ๆ ที่ยืนยันว่าทำธุรกิจร่วมกันก็สามารถใช้ประกอบการกู้ได้
  5. ต้องระบุในใบสมัครบริการสินเชื่อบ้านให้ชัดเจนว่าผู้กู้ร่วมมีความสัมพันธ์เป็น “คู่รัก” กับผู้กู้หลัก
  6. เซ็นเอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน
  7. รูปภาพหรือคลิปวิดีโอเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รักจริง ๆ

การถือครองกรรมสิทธิ์บ้านของกลุ่มคู่รัก LGBT
ธนาคารส่วนใหญ่จะให้การถือครองกรรมสิทธิ์ของคู่รัก LGBT ต้องใส่ชื่อผู้กู้ทั้ง 2 คน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และเมื่อผ่อนชำระบ้านครบหมดแล้ว กรรมสิทธิ์จะตกเป็นชื่อผู้กู้ร่วมซื้อบ้านทั้งคู่ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะผ่อนชำระไม่เท่ากันก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วหากต้องการเป็นกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จะต้องมีการโอนบ้านหรือทรัพย์สินไปให้อีกคน ซึ่งต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนตามนโยบายของแต่ละธนาคารด้วย

หากกลุ่มคู่รัก LGBT เลิกรากัน ต้องจัดการอย่างไร?
กรณีที่กลุ่มคู่รักเลิกรากัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการผ่อนชำระต่อ ธนาคารมีวิธีจัดการดังนี้

1. กรณีคู่รักที่แยกทางกัน แต่ยังผ่อนไม่หมดและมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการผ่อนต่อ
หากคู่รัก LGBT เลิกรากัน จะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบผ่อนต่อโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยธนาคารจะประเมินความสามารถของผู้กู้ร่วมซื้อบ้านที่เหลือว่าจะผ่อนชำระไหวหรือไม่ และหากกลุ่มคู่รัก LGBT ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์แล้วจบกันได้ด้วยดี ธนาคารจะให้ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายเซ็นยินยอม ส่วนบ้านจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของอีกฝ่ายแต่เพียงผู้เดียว ก็สามารถผ่อนชำระต่อจากยอดเดิมได้เลย

แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ผู้กู้อีกฝ่ายไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระต่อคนเดียวได้ สามารถเปลี่ยนชื่อผู้กู้ร่วมซื้อบ้านให้เป็นญาติหรือคนในครอบครัวแทน โดยทำการ รีไฟแนนซ์ แต่ก็ต้องเป็นผู้กู้ร่วมซื้อบ้านใหม่ที่ธนาคารพิจารณาแล้วว่ามีความสามารถในการผ่อนแทนคนรักเดิม หากพิจารณาแล้วไม่ผ่านก็ไม่สามารถถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้ บ้านก็ยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้งคู่อยู่นั่นเอง

การ รีไฟแนนซ์ จะมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วย จึงต้องสอบถามและคำนวณค่าใช้จ่ายให้เพียงพอเสียก่อน

2. กรณีที่แยกทางกันแต่ไม่ได้ทำการรีไฟแนนซ์ และมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการรักษาทรัพย์สินไว้โดยผ่อนชำระต่อคนเดียวจนหมด
หากเกิดกรณีนี้ ถึงแม้ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผ่อนชำระหมดแล้ว บ้านหรือทรัพย์ก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของทั้ง 2 คน แต่หากเจรจาตกลงกันได้ สามารถทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับอีกฝ่ายที่รับผิดชอบชำระหนี้มาโดยตลอดได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ ตกลงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ที่ผ่อนมาตั้งแต่แรกผู้เดียว ต้องฟ้องร้องถอนชื่อเจ้าของร่วมออก หลักฐานที่ใช้ยืนยัน เช่น เอกสารการหักหนี้ผ่านบัญชีธนาคารทุกเดือน, สลิป-ใบเสร็จในการจ่ายหนี้ โดยใช้สิทธิทางศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (มาตรา 55) เพื่อขอถอนชื่อออกจากโฉนดได้

3. กรณีต้องการขายทรัพย์สินที่ครอบครองร่วมกัน ต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่าย
หากกลุ่มคู่รัก LGBT กู้ร่วมซื้อบ้านแล้วเกิดการแยกทางกัน แต่ยังผ่อนชำระค่าหนี้กับธนาคารไม่หมด และไม่มีผู้ใดต้องการผ่อนต่อ หรือไม่มีความสามารถในการผ่อนทรัพย์สินต่อเพียงผู้เดียว วิธีการขายทรัพย์สินนั้นทิ้งก็ถือว่าเป็นทางออกครับ เพราะผู้กู้ร่วมซื้อบ้านทั้งหมดจะได้ไม่มีภาระผูกพันกันทางหนี้สินอีกต่อไป

แต่การขายต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการขาย แต่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ก็ไม่สามารถขายได้เช่นกันครับ


ข้อควรระวังของการกู้ร่วมซื้อบ้าน


  1. การกู้ร่วมนั้นต้องร่วมกันจ่ายภาระหนี้ หากคนใดคนหนึ่งไม่จ่าย อีกคนต้องเป็นคนจ่ายแทน
  2. ภายหลังหากต้องการถอนชื่อผู้ร่วมกู้ มักทำได้ยาก เพราะธนาคารจะพิจารณาว่าผู้กู้คนเดียวจะสามารถผ่อนชำระเพียงผู้เดียวได้หรือไม่
  3. หากกู้ร่วมซื้อบ้านแล้ว ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในตัวบ้านเช่นเดียวกัน หากมีปัญหาเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย
  4. หากจะนำดอกเบี้ยบ้านไปลดหย่อนภาษี ต้องถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน เช่น ดอกเบี้ยจากการผ่อนสามารถลดหย่อนได้ 100,000 บาท หากมีผู้กู้ร่วม 2 คน จะสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท
  5. หากต้องการขายบ้าน ต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้กู้ร่วมให้แน่ใจก่อนยื่นเอกสารกู้ร่วมซื้อบ้านครับ
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกู้ร่วมซื้อบ้านกับใคร เราควรศึกษาข้อดีและข้อควรระวังให้ถี่ถ้วน และที่สำคัญควรศึกษาพฤติกรรมของผู้กู้ร่วมซื้อบ้านกับเราด้วย เพื่อลดความเสี่ยงถึงปัญหาที่ต้องตามแก้กันในภายหลังครับ ส่วนกลุ่มคู่รัก LGBT ก็เช่นเดียวกัน ต้องประเมินความพร้อมของตัวเองและผู้กู้ร่วมซื้อบ้านเป็นสำคัญ ต้องคิดแผนสำรองรับมือถ้าหากเลิกราหรือแยกทางกัน ว่าสุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์ของบ้านจะตกเป็นของใคร และใครจะรับผิดชอบในการผ่อนชำระหนี้ต่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในภายหลัง ซึ่งตรงนี้ แม้บางธนาคารจะมีนโยบายซัพพอร์ตกลุ่มคู่รัก LGBT แล้ว แต่ละคู่ก็ต้องรับผิดชอบหนี้ที่กู้เขามาด้วยนะครับ

ข้อมูลประกอบจาก
ghbank.co.th, thinkofliving.com และ sansiri.com
อ่านเพิ่มเติม