วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

ศักดิ์สยาม เปิดปมทำไมรถไฟฟ้าสายสีแดงเลื่อนเปิดปี 64

เลื่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง จากเดินปี 64 ไปเปิดปี 65

รฟฟ.สายสีแดง.jpg

หลังจากที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้ากระทรวงคมนาคม ได้ทดสอบเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ที่สร้างใกล้เสร็จและส่วนต่อขยายใหม่ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP รับสัมปทานก่อสร้างและเดินรถแทนการให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และอัดเม็ดเงินก่อสร้างไป 5 ครั้ง ร่วม 1 แสนล้านบาท แต่ล่าสุด ได้เลื่อนการเปิดให้บริการออกไปอีก จนส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดบริการสายสีแดงช่วง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” ที่ ร.ฟ.ท.

ทั้งนี้งานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 80% แถมเริ่มนำขบวนรถมาวิ่งทดสอบไปแล้ว น่าจะเปิดได้ภายในปี 2564 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทำไมต้องทอดเวลาเปิดให้บริการออกไปอีก

ช้าเพราะขอขยายเวลา
นายศักดิ์สยาม อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้รถไฟฟ้าสายสีแดงไม่สามารถเปิดตามกำหนดเดิมภายในปี 2564 เนื่องจากผู้รับจ้างสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกิจการร่วมค้า MHSC เป็นผู้รับจ้างขอขยายเวลาเพิ่มเป็น 1,122 วัน

ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. หากต้องขยายเวลาจะกระทบต่อการเปิดให้บริการจากเดิมในปี 2564 น่าจะเป็นในปี 2565 ไม่น่าจะยาวไปถึงปี 2566 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่นานที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น ในวันที่ 23 ก.ค. ทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร.ฟ.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกันบูรณาการสรุปปัญหาอุปสรรคและทำแผนเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น

“สาเหตุที่เอกชนขอขยายเวลา มาจากหลายสาเหตุ เช่น ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจากการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคจนทำให้การส่งมอบพื้นที่ทำไม่ทัน และการขยายเวลานี้เอกชนไม่สามารถต่อรองได้ ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่มี ถ้าขยายได้ก็ทำ แต่ถ้าไม่ได้ก็คิดค่าปรับไปตามกระบวนการ”

ไม่ทำ PPP หนี้สาธารณะจะเกิน 60%
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับปรับรูปแบบการเดินรถใหม่ เป็นเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) เนื่องจากในปีนี้มีสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ปัญหา ป้องกัน เยียวยา และฟื้นสถานการณ์เป็นจำนวนมาก

“มีข้อกำหนดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า รัฐบาลห้ามก่อหนี้หนี้สาธารณะเกิน 60% ต่อจีดีดีพี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 58% จึงจำเป็นต้องทำ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงและค่าโดยสารต้องต่ำที่สุด รัฐต้องไม่เสียเปรียบและเอกชนเดินหน้าได้”

อย่างไรก็ตาม การจะเดินหน้าโครงการได้ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการและเสนอเข้าที่ประชุมคณะ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาอนุมัติด้วย ยืนยันว่าสามารถตรวจสอบการทำงานได้ ไม่มีการอุบอิบทำแน่นอน

ค่าก่อสร้างบานหมื่นล้าน
นอกจากนี้ ยังมีค่าก่อสร้างเพิ่มเติม (Variation Order : VO) ที่ ร.ฟ.ท. จะต้องขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มจากครม. อีก 10,345 ล้านบาท เนื่องจากมีเนื้องานก่อสร้างเพิ่มเติมและผู้รับเหมาขอขยายเวลา ซึ่งให้ ร.ฟ.ท. ไปตรวจสอบรายละเอียดวงเงินและแหล่งเงินที่จะขอใช้ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ไม่สามารถนำงบประมาณปกติมาใช้ได้ จึงให้รวมเงินก้อนนี้เข้าไปใน PPP ด้วย

นอกเหนือจากค่างานระบบ และการก่อสร้างส่วนต่อขยาย อีก 4 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพงหรือสาย Missing Link

เมินให้บริษัทลูกรถไฟเดินรถ
ต่อคำถามจะให้บริษัทลูกรถไฟที่เดินรถแอร์พอร์ตลิงก์มาเดินสายสีแดงไปก่อนระหว่างรอเอกชนรายใหม่หรือไม่ นายศักด์สยาม ย้ำว่า การบอกว่างานก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จหมายถึงอะไร? เพราะสายสีแดงทั้งหมดต้องไล่ตั้งแต่จากรังสิตมาสถานีกลางบางซื่อ แล้วจากสถานีกลางบางซื่อจึงไปตลิ่งชัน

“ต้องถามว่า แล้วงานทั้งหมดก่อสร้างเสร็จทุกงานแล้วหรือยัง ยังต้องมีการวางระบบอีก แม้ขบวนรถไฟจะทยอยรับมอบแล้ว หากช่วงไหนที่พร้อมก็จะเปิดให้เดินรถก่อนได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องรอให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายเสร็จถึงเปิด แต่การเปิดให้บริการต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและความสะดวก ถ้าเปิดแล้วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะต้องของบประมาณมาดำเนินการอีก”

นอกจากนี้การจะเปิดเดินรถต้องดูว่า ศูนย์ควบคุมระบบเดินรถอยู่ที่ไหน ถ้าอยู่ในสถานีกลางบางซื่อวางไว้ที่ตำแหน่งใดและก่อสร้างเสร็จหรือยัง หากยังไม่เสร็จจะปล่อยให้รถวิ่งได้อย่างไร ไปดูรายละเอียดมาให้ครบ

“อย่าเพิ่งตกอกตกใจ ผมจะดูให้ดีที่สุด ผมโดนทั้งขึ้นทั้งล่องอยู่แล้ว ไม่เปิดก็หาว่าชะลอ เปิดไปไม่คุ้มก็หาว่าเอาอะไรมาคิด ดังนั้น จุดเหมาะสมคืออะไรต้องรอประชุมร่วมกันก่อน ความจริงจะปรากฎเมื่อได้มีการประชุมและจะอธิบายทั้งหมดให้ฟังว่าทำไมถึงล่าช้า” นายศักดิ์สยามกล่าว

รฟฟ.สายสีแดง.jpg

เปิดไทม์ไลน์ PPP
สำหรับไทม์ไลน์การเดินหน้า PPP สายสีแดง ก่อนหน้านี้ ร.ฟ.ท. และกรมการขนส่งทางราง ทำเปรียบเทียบกับระยะเวลาการก่อสร้างที่ล่าช้าในปัจจุบัน

โดยไทม์ไลน์ของ ”กรมการขนส่งทางราง” จะใช้เวลาดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน ได้แก่ ทบทวนแผน 1 เดือน, ศึกษาวิเคราะห์โครงการ 4 เดือน, เสนอบอร์ด PPP และร่างทีโออาร์ 4 เดือน, เสนอครม.ภายใน 1 เดือน, คัดเลือกเอกชนและร่างสัญญา 6 เดือน และสุดท้ายเสนอโครงการและเตรียมรับโอนเดินรถจาก แอร์พอร์ตลิงก์สู่เอกชนอีก 2 เดือน โดยจะมีรับคนและฝึกอบรมการเดินรถ รวมถึงดำเนินการทดสอบระบบ (Test Run) ไปก่อนด้วย

ขณะที่ของ ร.ฟ.ท. จะใช้เวลาดำเนินการ 43 เดือน เริ่มจากขั้นตอนศึกษาเปรียบเทียบ 6 เดือน, ทำรายงาน PPP 7 เดือน, เสนอบอร์ด PPP 3 เดือน, เสนอครม. 1 เดือน และขั้นตอนคัดเลือกเอกชนและลงนามในสัญญาอีก 26 เดือน โดยไม่ได้ระบุถึงการให้แอร์พอร์ตลิงก์มาเดินรถไปก่อนแต่อย่างใด


ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม