ข่าวสาร

วันที่ 28 สิงหาคม 2563

ธปท. รวมหนี้รายย่อย มัดหลักประกันบ้าน-รถ สั่งแบงก์ลดดอกเบี้ยเหลือ 6%

ธปท. รวมหนี้รายย่อย - มัดหลักประกัน “บ้าน-รถ” สั่งแบงก์กดดอกเบี้ยเหลือ 6%

ลดดอกเบี้ย.jpg

ธปท. ออกมาตรการรวมหนี้สถาบันการเงิน-บริษัทลูกในเครือเดียวกัน ช่วยรายย่อยเพิ่มเติม ระบุใช้วิธีปรับโครงสร้างดึงหลักประกันสินเชื่อบ้านผูกหนี้บัตรเครดิต - บุคคล ลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR พร้อมยืดเวลาชำระหนี้ ชี้ ลูกค้าติดต่อเข้าโครงการตั้งแต่ 1 ก.ย.63 ถึง 31 ธ.ค.64

โดยให้สามารถนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงิน หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน อาทิ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อที่เกิดจากการให้เช่าซื้อ มาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน

ทั้งนี้ จะทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถลดอัตราดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นให้เหลือไม่เกินอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate: MRR) และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ตามความสามารถของลูกหนี้ โดยที่ผู้ให้บริการทางการเงินต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้

ขณะที่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 5.75 - 6.0%

ลดดอกเบี้ย.jpg

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย.jpg

มาตรการดังกล่าว จะช่วยลดภาระการชำระหนี้โดยที่ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใดโดยไม่จำเป็น และยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีลักษณะหมุนเวียนที่ยังเหลือได้ รวมทั้งไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับการชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการและแสดงข้อมูลว่าได้รับผลกระทบต่อผู้ให้บริการทางการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในช่วงที่ยากลำบากนี้ได้ ขณะเดียวกันผู้ให้บริการทางการเงินสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม