วันที่ 27 เมษายน 2564

อัปเดตรถไฟฟ้า 4 สายใหม่ “สีแดง เหลือง ชมพู” เปิดปีนี้-ปีหน้า

อัปเดตไทม์ไลน์การก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 สี 4 สาย ดีเดย์ ก.ค.นี้ ได้นั่งสายสีแดง “ตลิ่งชัน บางซื่อ รังสิต” ค่าโดยสารเริ่มต้น 12 บาท สูงสุด 42 บาท ปลาย ธ.ค.นี้ ลุ้นตีตั๋วสายสีเหลืองเปิดหวูด “สำโรง-ภาวนา” ต้นปี’65 สายสีชมพูมาแน่ “สถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ” จับตาสายสีส้มติดหล่มปมประมูล ส่อเลื่อนยาว

รถไฟฟ้าสายใหม่.jpg

หลังจากกระทรวงคมนาคมเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าในแผนแม่บทมาอย่างต่อเนื่อง และทยอยเปิดให้บริการไปแล้วหลายสาย ภายในปี 2564 มีสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการคือ รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเปิดทดลองใช้ปลายเดือน ก.ค.ให้ประชาชนใช้ฟรี 3 เดือน และเปิดบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบวันที่ 1 พ.ย. 2564 เก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 12-42 บาท

นอกจากนี้ยังมีสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.40 กม. ปัจจุบันงานโยธาสร้างคืบหน้าแล้ว 80.45% งานระบบคืบหน้า 70.63% และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.50 กม. งานโยธาสร้างคืบหน้าแล้ว 76.13% งานระบบคืบหน้า 68.73% กำลังลุ้นกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชกรุ๊ป) ผู้รับสัมปทานก่อสร้างและเดินรถจะเปิดบริการบางช่วงได้ทันปลายปี 2564 ตามที่กำหนดไว้ได้หรือไม่

 ธ.ค. ลุ้นสีเหลือง “สำโรง-ภาวนา” 


ก่อนหน้านี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองอาจจะเปิดให้บริการบางช่วงไม่ทันภายในเดือน ต.ค.นี้ ตามแผนเดิม จะเลื่อนเป็นเดือน ธ.ค. หรือต้นปี 2565

เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าระบบอุปกรณ์ และเครื่องกลจากต่างประเทศที่ผลิต และที่ผ่านมาติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ และย้ายตำแหน่งสถานี จึงทำให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ช้า

“เดิมจะให้เอกชนผู้รับสัมปทานเปิดให้บริการสายสีชมพู จากสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และสายสีเหลืองจากสถานีสำโรง-พัฒนาการ ในเดือน ต.ค.นี้ เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ทั้งนี้ ตามแผนทั้ง 2 สายจะเปิดได้ตลอดสายในปี 2565”

ล่าสุด นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เปิดเผยว่า จะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองแบ่งเป็นเฟส โดยสายสีเหลืองแบ่งเป็น 2 เฟส ในเฟสแรกจะเริ่มนำรถวิ่งทดสอบระบบกลางปีนี้ และเปิดบริการปลายเดือน ธ.ค.นี้

ช่วงสถานี สำโรง-ช่วงถนนลาดพร้าว อยู่ระหว่างพิจารณาจะเปิดถึงสถานีไหน เช่น สถานีภาวนา ส่วนที่เหลือจะเปิดครบตลอดเส้นทางภายในปี 2565 เนื่องจากช่วงสถานีต้นทางบริเวณแยกลาดพร้าว ยังเคลียร์ผู้เช่าที่ดินของการรถไฟฯไม่เสร็จและเป็นพื้นที่ที่สร้างยาก อาจจะใช้เวลานาน

“ปลายปีนี้สายสีเหลืองจะเปิดบางช่วงได้ก่อน ส่วนจะเก็บค่าโดยสารทันที 14-42 บาทเลยหรือไม่ รอหารือกับ รฟม. แต่ตามสัญญาสามารถเก็บได้เลย”

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง.jpg

Photo by ประชาชาติธุรกิจ

 สีชมพูทยอยเปิดปี’65 


นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนสายสีชมพูคงเปิดบริการไม่ทันปลายปีนี้ เนื่องจากเพิ่งได้รับส่งมอบพื้นที่ มีการปรับแบบและตำแหน่งสถานีใหม่ รวมถึงยังมีการก่อสร้างที่ทับซ้อนกับโครงการป้องกันน้ำท่วมของกรมทางหลวงบนถนนแจ้งวัฒนะ ที่อาจจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการจะแบ่งเป็น 3 เฟส ในเฟสแรกเปิดจากสถานีปลายทาง มีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ประมาณเดือน มี.ค. 2565 เฟสที่ 2 เปิดจากสถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-สถานีปากเกร็ด และเฟสสุดท้ายเปิดจากสถานีปากเกร็ด-สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ซึ่งยังเป็นกำหนดการในเบื้องต้นที่บริษัทพยายามจะเร่งการเปิดบริการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการก่อสร้างด้วย

เร่งสร้างรถไฟฟ้าเข้าเมืองทองฯ


สำหรับความคืบหน้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทางประมาณ 3 กม. ที่กลุ่มบริษัทเสนอลงทุนเพิ่มเติม 4,230 ล้านบาท และผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา รอ รฟม.ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน และออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง

คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยบริษัทจะเร่งงานก่อสร้างให้เสร็จภายใน 30 เดือน ให้เปิดต้นปี 2567 จากสัญญากำหนดใช้เวลาสร้าง 37 เดือน และแล้วเสร็จเปิดบริการในเดือน ก.ย. 2567

ส่วนสายสีเหลืองต่อขยายจาก รัชดา-ลาดพร้าว-รัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ที่เสนอการลงทุนเพิ่ม 4,100 ล้านบาท ถึงขณะนี้บริษัทยังยืนยันจะไม่รับภาระค่าใช้จ่ายการชดเชยรายได้ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้รับสัมปทานสายสีน้ำเงิน เป็นคู่สัญญากับ รฟม. ซึ่งการเจรจาที่จบไประบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทจะรับภาระค่าศึกษาโครงการ ค่าก่อสร้าง และค่าเวนคืนเท่านั้น

 สีเหลืองต่อขยายติดบ่วงสีน้ำเงิน 


แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า สายสีเหลืองส่วนต่อขยายอยู่ระหว่างเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมให้ข้อเสนอแนะ เนื่องจากยังมีเรื่องค่าชดเชยรายได้ให้กับ BEM ที่ทำหนังสือถึง รฟม. จะได้รับผลกระทบผู้โดยสารจะลดไปเมื่อเปิดสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ซึ่งผลศึกษาของ BEM ระบุว่า

ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินจะหายไป 4,800 เที่ยวคน/วัน ในปี 2567 เป็นปีแรกที่สายสีเหลืองต่อขยายเปิดบริการ และในปีที่ 30 อยู่ที่ 17,500 เที่ยวคน/วัน คิดเป็นรายได้ที่หายไปตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กว่า 2,700 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ 988 ล้านบาท

“รฟม.พยายามเจรจากับบีทีเอสให้ยอมรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นแล้ว แต่เอกชนไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จึงทำให้โครงการยังไม่ได้ข้อยุติจะได้สร้างหรือไม่ เพราะบอร์ดก็ไม่พิจารณา แต่ให้ รฟม.เสนอเรื่องไปคมนาคมเพื่อชี้แนะทางออก”


รถไฟฟ้าสายสีเหลือง.jpg
Photo by ประชาชาติธุรกิจ

 สีส้มส่อเลื่อนยาวประมูล-เปิดหวูด 


แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วง “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี” ระยะทาง 22.5 กม. ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้าแล้ว 79.44% เร็วกว่าแผน 0.79% ทั้ง 6 สัญญาจะสร้างเสร็จปลายปี 2565

ความคืบหน้าสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-รามคำแหง 12 กิจการร่วมค้า CKST (บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 20,633 ล้านบาท คืบหน้า 87.04%

สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12-หัวหมาก กลุ่มกิจการร่วมค้า CKST ก่อสร้าง วงเงิน 21,057 ล้านบาท คืบหน้า 80.06% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างโยธาอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯเป็นผู้ก่อสร้าง 18,570 ล้านบาท คืบหน้า 77.24%

สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโยธาทางยกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-มีนบุรี มี บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง 9,990 ล้านบาท คืบหน้า 67.97% สัญญาที่ 5 ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ของกลุ่มกิจการร่วมค้า CKST วงเงิน 4,831 ล้านบาท คืบหน้า 81.30% และสัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง บมจ.ยูนิคฯเป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,690 ล้านบาท คืบหน้า 72.90%

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ตามแผนจะเปิดบริการภายในปี 2567 ยังลุ้นว่าจะสามารถเปิดได้หรือไม่ รอความชัดเจนงานติดตั้งระบบและการเดินรถไปรวมอยู่กับสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ก่อสร้างและรับสัมปทานเดินรถ 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท จะได้เอกชนเมื่อไหร่ หลังการประมูลได้ยกเลิกไปและเตรียมจะเปิดประมูลใหม่ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันประมูล

เนื่องจากร่างทีโออาร์ใหม่ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว โดยจะใช้เกณฑ์ใหม่พิจารณาคือ พิจารณาซองเทคนิคและซองราคาพร้อมกัน ต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกำหนดประชุม เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ มีเปลี่ยนกรรมการ

“เดิม รฟม.วางไทม์ไลน์จะเสนอคณะกรรมการพิจารณาทีโออาร์ปลายเดือน มี.ค. เปิดประมูลเดือน เม.ย.นี้ ทราบว่ารอศาลอาญาฯจะรับคำฟ้องบีทีเอสหรือไม่ วันที่ 5 พ.ค.นี้ และเปลี่ยนตัวกรรมการมาตรา 36 จึงทำให้ชะลอการเปิดประมูลใหม่ออกไปก่อน จากความล่าช้านี้อาจจะทำให้ไทม์ไลน์การเปิดช่วงตะวันออกต้องเลื่อนจากปี 2567” แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติม