วันที่ 17 กันยายน 2564

รัฐออกมาตรการดึงเศรษฐีต่างชาติอยู่ไทยระยะยาว

รัฐออกมาตรการดึงเศรษฐีต่างชาติอยู่ไทยระยะยาว.jpg

ครม. มีมติเห็นชอบให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม เข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยในรูปแบบพำนักระยะยาว พร้อมให้สิทธิประโยชน์มากมาย อาทิ วีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้สิทธิซื้ออสังหาริมทรัพย์ เช่าระยะยาว ซื้อบ้านได้ และจ่ายภาษีอัตราเดียวกับคนไทย หวังกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตร (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ประเทศ ไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเพื่อเร่งให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น

2 มาตรการหลักเอื้อชาวต่างชาติ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) มีดังนี้

1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)

กำหนดวีซ่าประเภทใหม่ให้กับกลุ่มของชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะได้ข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การยกเว้นให้ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว และวีซ่าประเภท Smart visa ทั้งหมด โดยไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ หากอยู่ในประเทศเกิน 90 วัน

2. การแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน การบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้คนต่างด้าวสามารถทำงานให้นายจ้างทั้งที่อยูในและนอกราชอาณาจักรได้ การยกเว้นหลักเกณฑ์การกำหนดให้การจ้างคนต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างงานพนักงานคนไทยทำงานประจำ 4 คน การยกเว้นภาษีประเภทต่าง ๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร

ทั้งนี้ ครม. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดำเนินการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2 มาตรการดึงชาวต่างชาติ คาดว่าจะส่งผลอย่างไร

1. ในช่วง 5 ปี (2565-2569) คาดว่าจะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติให้มาพักอาศัยในไทย 1 ล้านคน
2. ช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
3. ช่วยเพิ่มปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 800,000 ล้านบาท และสร้างรายได้จากการเก็บภาษี 270,000 ล้านบาท
4. ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล

ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ที่เข้าข่ายพำนักระยะยาวได้

1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

มีการลงทุนขั้นต่ำ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ในพันธบัตรไทย หรือมีลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญฯ

2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

ชาวต่างชาติที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี และมีการลงทุนขั้นต่ำ 250,000 เหรียญฯ หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาฯ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 40,000 เหรียญฯ หรือกรณีไม่มีการลงทุนต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 เหรียญฯ

3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย มีรายได้ส่วนบุคคล

ชาวต่างชาติที่ต้องการย้ายถิ่นฐานมารับจ้างทำงานให้กับบริษัทในประเทศไทย มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 เหรียญฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับเงินทุนซีรีเอ และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี

“บุคคลใน 3 กลุ่มแรกนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกัน ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน และในอนาคตอาจได้รับสิทธิในการเป็นเจ้าของหรือเช่าอสังหาฯ ระยะยาว รวมทั้งที่ดินได้”

4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีรายได้ส่วนบุคคล

ชาวต่างชาติที่มีทักษะการทำงานเฉพาะด้าน มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 เหรียญฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกำหนด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับชาวต่างชาติกลุ่มอื่น ๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศในอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ยกตัวอย่าง อาชีพนักวิจัย หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น มีสิทธิได้รับวีซ่าพิเศษ 10 ปี

สิทธิประโยชน์ที่ชาวต่างชาติจะได้รับ

1. การกำหนดวีซ่าประเภทพิเศษ (LTR vasa)

    ได้รับวีซ่าอายุ 10 ปี รวมถึงคู่สมรส บุตร หรือผู้ติดตาม โดยอำนวยความสะดวกให้รับอนุมัติวีซ่าอย่างรวดเร็ว

2. ได้รับยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน

3. ได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

4. ได้รับสิทธิจ่ายภาษีอัตราเดียวกับคนไทย

5. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ

6. ได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย

     เช่น ไวน์ สุรา และซิการ์ ลงกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี โดยให้ สศช.ประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการ ทุก ๆ 5 ปี

7. ได้สิทธิการถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่กำหนด

     หลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี แต่หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ สามารถขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ ในพื้นที่ EEC มีการคิดภาษีเงินได้ของคนงานต่างชาติที่ทำงานในเขตส่งเสริม ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 17% ส่วนผู้บริหารต่างชาติที่ทำงานที่สำนักงานใหญ่หรือบริษัทการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่ EEC เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15%

ที่มา : DDProperty และ ไทยรัฐออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม