บทความ

วันที่ 14 ตุลาคม 2559

รู้ทันกฎหมาย ต่อเติมบ้านสบายใจ ปลอดภัยชัวร์

รู้ทันกฎหมาย ต่อเติมบ้านสบายใจ ปลอดภัยชัวร์


หลายๆคนที่ ซื้อบ้าน จัดสรรทั้งบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮม หรือปลูกสร้างเองก็ตาม ไม่ว่าจะบ้านใหม่หรืออยู่อาศัยมาระยะหนึ่ง เรามักอยากต่อเติมเปลี่ยนแปลงบ้าน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานหรือเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ บ้างก็ต้องการมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม อาจด้วยเพราะมีสมาชิกเพิ่มบ้าง เพื่อขยับขยายทำการค้าขายบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่เลือกที่จะต่อเติมบ้านแทนการซื้อหลังใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ครัวด้านหลังทาวน์โฮมจัดว่าเป็นส่วนที่นิยมต่อเติมกันมากเลยทีเดียว

กฎหมายต่อเติมบ้านและอาคารที่ควรรู้

ในที่นี้ คำว่า “ต่อเติม” ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร จะใช้คำว่า "ดัดแปลง" ซึ่งหมายถึง "การเปลี่ยนแปลงต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของโครงสร้างอาคารหรือส่วนต่างๆ ของอาคาร ซึ่งได้ก่อสร้างไว้แล้วให้ผิดไปจากเดิม" ฉะนั้นหากปรับเปลี่ยนสุ่มสี่สุ่มห้าอาจมีความผิดตั้งแต่ถูกปรับจนถึงจำคุกได้ เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าการดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ดังนั้น การก่อสร้างดัดแปลงใดๆ เราควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่อเติมบ้านและอาคารไว้บ้าง ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กฎหมายหลักในการควบคุมการก่อสร้างอาคารกำหนดให้ผู้ที่จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อน หรือให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยยื่นแบบแปลน และชื่อของสถาปนิก และวิศวกรที่ออกแบบ หรือควบคุมงานให้เจ้าพนักงานนั้นทราบ พร้อมดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ ก็เป็นอันใช้ได้


เรามาดูกันครับว่า กฎพื้นฐานที่เราควรต้องรู้ก่อนการเปลี่ยนแปลงต่อเติมพวกนี้มีอะไรกันบ้าง แล้วต่อเติมอย่างไรจะไม่ให้เข้าข่ายการดัดแปลงอาคาร ซึ่งในกฎหมาย (ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11) ระบุไว้ซึ่งการกระทำดังต่อไปนี้



กฎหมายต่อเติมบ้าน และ 5 ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องขออนุญาต


5 ข้อยกเว้นกฎหมายต่อเติมบ้านและอาคารที่ไม่ต้องขออนุญาต

สำหรับใครกำลังวางแผนต่อเติมบ้าน และสงสัยว่าต้องขออนุญาตไหม? ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องของการซ่อมแซม หรือเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งกฎหมายก็อนุโลมว่าไม่ต้องขอ หรือแจ้งเจ้าพนักงานครับ ซึ่ง 5 เรื่องที่เป็นข้อยกเว้น และสามารถทำได้เลยมีดังต่อไปนี้ (ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528)

  1. การขยาย (หรือลด) เนื้อที่ของพื้นที่ชั้น ในชั้นใดชั้นหนึ่งรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่ม (หรือลด) จำนวนเสาหรือคาน ตัวอย่างเช่น เดิมพื้นบ้านเป็นพื้นเรียบๆ ต้องการเจาะเป็นช่องเพื่อระบายอากาศ อย่างนี้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต
  2. การขยาย (หรือลด) เนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่ม (หรือลด) จำนวนเสาหรือคาน เช่น การทำหลังคาคลุมดาดฟ้าโดยยื่นจากเดิมออกไปโดยรวมแล้วเป็นการเพิ่มเนื้อที่ออกไปไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่ทำให้คานและเสาเดิมต้องรับน้ำหนักเพิ่มเกินร้อยละสิบ อย่างนี้ก็ไม่ต้องยื่นขออนุญาต
  3. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร เช่น เสา คาน หรือฐานราก และโครงสร้างนั้นไม่ใช่คอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม ดังนั้น ถ้าโครงสร้างอาคารที่เราเปลี่ยนเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เราจะต้องขอ หรือแจ้งเจ้าพนักงานเสมอแม้ขนาด จำนวน วัสดุ หรือชนิดเสา หรือคานที่เป็นโครงสร้างนั้นจะเหมือนเดิมทุกอย่างก็ตาม แต่หากโครงสร้างของอาคาร เดิม คือเสา คาน ไม้ หากโครงสร้างเหล่านี้ชำรุด เช่น ปลวกขึ้น ทำให้ไม้ผุ จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ การเปลี่ยนแปลง โดยใช้ไม้เช่นเดิม จำนวนและขนาดเท่าเดิมไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร
  4. การเปลี่ยนส่วนใดๆก็ตามในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม เช่น การทำฝาผนัง หรือพื้นบ้าน เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการจะเปลี่ยนพื้นบ้าน ซึ่งเดิมเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ อยากเปลี่ยนเป็นพื้นหินอ่อน หินแกรนิต ก็ต้องคำนวณน้ำหนักว่าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเกินร้อยละสิบหรือไม่ หากไม่เกินก็ไม่เป็นไร แต่หากเกินก็ต้องยื่นขออนุญาต ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าคำนวณน้ำหนักด้วยตนเองไม่เป็น กรณีแบบนี้ เราอาจต้องให้วิศวกรเข้ามาช่วย เพราะหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากก็จะทำให้โครงสร้างอาคารต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายภายหลังได้
  5. การเปลี่ยน ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก หรือเนื้อที่ส่วนใดๆ ก็ตามในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร ในข้อนี้จะไม่แตกต่างจากข้อก่อนหน้านี้มากนัก เพราะในข้อนี้จะเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแบบ เปลี่ยนสไตล์ของพื้นที่เล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน และไม่ก่อให้เกิดน้ำหนักเพิ่มแต่ประการใด เช่น การเปลี่ยนจากประตูไม้ เป็นประตูกระจก หรือการเปลี่ยนหน้าต่าง เปลี่ยนลายกระเบื้อง ฝ้า เพดน กรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาต แต่ถ้าหากการเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านั้น ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากจนเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม ก็จำเป็นต้องอนุญาต เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายเช่นกัน


ต่อเติมได้แต่ต้องทำตามกฎระยะร่น หรือระยะห่างด้วยเสมอ

นอกจากนี้ กฎหมายต่อเติมบ้าน ยังมีหลักเกณฑ์เรื่องระยะถอยร่น หรือระยะห่างระหว่างอาคารกับที่ด้านข้าง หรือถนนอีก ซึ่งเราจะดัดแปลงให้ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์พวกนี้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะได้รับอนุญาตในการดัดแปลงหรือไม่ก็ตาม



กฎหมายการต่อเติมบ้าน และกฎหมายบทลงโทษ


ต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตไหม แล้วถ้าเราไม่ทำตาม จะเกิดอะไรขึ้น?

ถ้าการต่อเติมบ้านของเราต้องขออนุญาต หรือต้องแจ้งเจ้าพนักงาน แต่เรากลับไม่ทำ หรือเราได้รับอนุญาตแล้ว แต่ถึงเวลาต่อเติมจริง เรากลับต่อเติมให้แตกต่างจากที่ได้รับอนุญาตไว้ หรือจากแบบแปลนที่ยื่นขอไป ซึ่งจะทำให้มีโทษตามกฏหมายต่อเติมบ้านและอาคาร ดังนี้ครับ

  1. โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท (หรือทั้งจำทั้งปรับ) และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาระยะที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (ตามมาตรา 31 และ 65 พรบ.ควบคุมอาคาร)
  2. ถ้าเพื่อนบ้านหลังติดกัน (ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้เสียหาย) ได้มีการร้องเรียน หรือเจ้าพนักงานพบเจอว่าเราต่อเติมไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของบ้าน หรือช่างก่อสร้างระงับการก่อสร้างได้
        แต่ถ้าเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ก็สามารถสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาต หรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดได้

         หรือถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้แล้ว หรือเจ้าของบ้านไม่ยอมแก้ไขตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็อาจโดนสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนภายในเวลาที่กำหนดได้ (ตามมาตรา 40, 41 และ 42 พรบ.ควบคุมอาคาร)

         และถ้ายังไม่ทำตามคำสั่งเจ้าพนักงานเหล่านี้อีก ก็จะมีโทษเพิ่มอีกคือโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท (หรือทั้งจำทั้งปรับ) และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง (ตามมาตรา 67 พรบ.ควบคุมอาคาร)


ต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตไหม และทางแก้เมื่อเกิดปัญหากับเพื่อนบ้าน


การต่อเติมบ้านและทางแก้เมื่อเกิดปัญหากับเพื่อนบ้าน

ก่อนการต่อเติมบ้านนั้น นอกจากกฎหมายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราต้องคำนึงถึงคือ เพื่อนบ้าน ซึ่งอาจสร้างความรำคาญจากเสียงรบกวน ปัญหานี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยอย่างหนึ่งในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งหากใครประสบปัญหา ทางเลือกแก้ไขพอมีดังนี้

  1. พูดคุยหารือกับเพื่อนบ้าน ที่จะต่อเติมว่า สูงเกินไป ใกล้กันเกินไป ผิดกฎเกณฑ์หรือไม่ หรือกำลังรู้สึกเสียความเป็นส่วนตัว และให้เพื่อนบ้านได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อปรับแบบให้เหมาะสมที่รับกันได้ทั้งสองฝ่าย หรือหากคุยกันแล้วไม่ได้ข้อสรุป ก็อาจให้นิติบุคคลหมู่บ้านเข้ามาช่วยพูดคุย หรือเกลี้ยกล่อมกัน
  2. ปัญหาที่เกิดบ่อยๆ คือการต่อเติมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และได้เข้ามาเริ่มดำเนินงานก่อสร้างทันที ซึ่งกรณีนี้ เราอาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้ามาช่วย หากเราอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถโทรแจ้ง Call Center ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของ กทม. ได้ที่ 1555 หรือกรณีอยู่ต่างจังหวัด ก็ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้เลย


ต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้มีการต่อเติมบ้านกันโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือต่อเติมกันแบบไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์กันสักเท่าไร ซึ่งบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทางกฎหมายก่อนการต่อเติมบ้านมากขึ้น เพื่อที่จะได้กลับไปลองพิจารณาว่า หากเข้าข่ายกับหลักเกณฑ์ข้างต้น จะได้เตรียมตัวยื่นขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนรายละเอียดการดัดแปลง การก่อสร้างอื่นๆ คงต้องพิจารณากันเป็นกรณีๆไป และเมื่อทุกคนทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะได้ไม่ต้องหวั่นถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในการต่อเติมบ้าน ทั้งอาจช่วยลดปัญหาการทะเลาะกับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงอีกด้วย

 

บทความดีๆ สามารถอ่านได้เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bkkcitismart.com/บทความ

อ่านเพิ่มเติม