บทความ

วันที่ 18 กันยายน 2556

ข้อควรคิด ก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมือสอง



บ้าน ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียม คืออสังหาริมทรัพย์ชิ้นโตที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือบางคนอาจจะลงหลักปักฐานพักพิงอาศัยไปตลอดชีวิต ดังนั้นในการจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสอง ต้องเลือกสิ่งที่ดีและสนองความต้องการของผู้ซื้อได้มากที่สุด โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยมือสอง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ฝันอยากจะมี "บ้าน" เป็นของตัวเอง ที่ตั้งอยู่บนทำเลที่ดี โดยมีราคาที่ไม่สูงมาก ถ้าเทียบกับบ้านมือหนึ่ง แต่ก่อนจะตัดสินใจเลือกจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดและพิถีพิถันกันสักหน่อย เพราะเป็นการซื้อขายต่อจากคนอื่นอีกที แต่ถ้าเลือกอย่างดีแล้ว ก็จะได้บ้านคุณภาพดีที่ราคาสมเหตุสมผล


เลือกอย่างไรให้ถูกใจคนอยู่

  1. เลือกทำเลที่เดินทางสะดวก คล่องตัว
  2. สามารถเดินทางเข้าออกได้หลายช่องทาง และมีระบบขนส่งรองรับหลายรูปแบบ
  3. ไม่ควรซื้อบ้านที่เป็นซอยตัน หรือไม่มีกลับรถ
  4. ไม่ควรซื้อบ้านที่เป็นถนนหลัก เนื่องจากมีรถผ่านไปผ่านมาบ่อย ส่งเสียงดังรบกวนการอยู่อาศัย
  5. ควรเลือกทำเลที่อยู่ในจุดห่างไกลบ่อบำบัดน้ำเสีย หรือจุดทิ้งขยะของหมู่บ้าน
  6. ตัวโครงสร้างของบ้านจะต้องไม่มีรอยร้าว หรือมีการทรุดตัวของเสา
  7. ถ้าหากเป็นบ้านที่มูลค่าสูง ควรพาวิศวกร ผู้รับเหมา และผู้จัดสวนเข้าไปตีราคาด้วย
  8. สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้าน และเพื่อนบ้าน ว่าเหมาะสำหรับผู้ซื้อหรือไม่

ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ

เมื่อได้ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อแล้ว ขั้นตอนต่อไปควรตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถือกรรมสิทธิ์ สถานะของที่อยู่อาศัย และรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

  1. ควรตรวจสอบว่าผู้ที่จะขายบ้านให้นั้นเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านหรือห้องชุดจริงหรือไม่ หรือหากมีการมอบหมายอำนาจให้ตัวแทนหรือนายหน้าดำเนินการขายแทนก็ต้องมีหนังสือมอบหมายอย่างเป็นทางการด้วย
  2. ควรตรวจสอบว่าบ้านหรือห้องชุดคอนโดมือสองดังกล่าว ติดภาระจำนอง หรือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินใดหรือไม่ หากมีก็ควรตรวจสอบต่อว่าได้มีการค้างค่างวดหรือค้างชำระหรือเปล่า ทั้งนี้โดยทั่วไปการซื้อบ้านที่ติดจำนองจะต้องผ่านกระบวนการไถ่ถอนจำนองมาก่อน แล้วจึงค่อยโอนกรรมสิทธิ์กัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีการคุยรายละเอียดกันตั้งแต่แรก
  3. ในกรณีที่เป็นอาคารชุดต้องขอดูเอกสารการจดทะเบียนอาคารชุด นิติบุคคลอาคารชุด และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตลอดจนรายการทรัพย์สิน ส่วนกลางและบริการต่าง ๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนกลางอย่างละเอียด
  4. ควรตรวจสอบกรณีที่อาจมีการค้างชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรือค่าโทรศัพท์ เพราะหากโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วผู้ที่ซื้อบ้านหรือห้องชุดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ค้างอยู่เหล่านี้แทน
  5. ควรตกลงกันเสียก่อนว่าค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าภาษีต่าง ๆ (ภาษีเงินได้, ภาษีธุรกิจเฉพาะ) หรือค่าอากรแสตมป์ ใครจะเป็นผู้จ่าย หรือจะออกกันละครึ่ง

 

เมื่อได้ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ผู้ซื้อ และได้ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปถือว่าสำคัญที่สุดในการซื้อ ที่อยู่อาศัย มือสอง คือตรวจ "สภาพบ้าน" เพราะมีการอยู่อาศัยมาแล้ว ซึ่งจะขอกล่าวโดยละเอียดในบทความต่อไป

อ่านเพิ่มเติม