ข่าวสาร

วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

เผยเส้นทางรถโดยสารไฟฟ้า นำร่อง 3 สายเชื่อม EEC

นำร่องก่อน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง งบ 14,400 ล้านบาท

แผน-EEC.jpg

เคาะโครงการนำร่องแล้ว สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลัง สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และรูปแบบการลงทุน

โดยภาพรวมการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะมี 3 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน 2. ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างเมืองในเขตเมือง และ 3. ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง

จากการศึกษาเบื้องต้นได้ประเมินมูลค่าลงทุนไว้ 14,400 ล้านบาท แยกเป็น 2 ช่วง ในช่วงก่อสร้าง มีค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานโยธา จัดซื้อขบวนรถโดยสารและงานระบบ รวมมูลค่าลงทุน 7,600 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบของรถโดยสารจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า EV bus รถโดยสารขนาดเล็ก EV minibus และรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus โดยการลงทุนรัฐบาลจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน รูปแบบ PPP

และช่วงเปิดบริการ มีค่าดำเนินการ 3,900 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษา 2,900 ล้านบาท แยกเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 1,207 ล้านบาท ชลบุรี 2,832 ล้านบาท และระยอง 3,543 ล้านบาท

ขณะที่แนวเส้นทาง สนข. เคาะเส้นทางนำร่องของทั้ง 3 จังหวัดแล้ว โดย จ.ฉะเชิงเทรา เลือกแนวเส้นทางจากสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา - โรงเรียนเบญจมฯ - ตะวันออกคอมเพล็กซ์ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีฉะเชิงเทรา มุ่งไปทางทิศใต้บนถนนสุวินทวงศ์ จากนั้นเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนศุขประยูร ผ่านแม่น้ำบางปะกงจนถึงสี่แยกคอมเพล็กซ์ บริเวณ กม.75+150

จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข 365 จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางโครงการ ที่บริเวณตะวันออกคอมเพล็กซ์ ระยะทาง 7.97 กม.

มี 13 สถานี 3 ลานจอดแล้วจร รองรับได้ 225 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง และ ITF บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา เป็นระบบรถโดยสารไฟฟ้า EV bus ค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย เปิดบริการปี 2567 ผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,700 เที่ยว/คน/วัน

ชลบุรี
จ.ชลบุรี เลือกแนวเส้นทางจากเมืองศรีราชา-รถไฟความเร็วสูงศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เริ่มต้นที่โรบินสัน ศรีราชา บนถนนสุขุมวิท จากนั้นแนวจะเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แนวถนนอัสสัมชัญ

หลังจากผ่านโรงเรียนอัสสัมชัญ จุดตัดสี่แยกเขาสวนเสือศรีราชา ผ่านอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่แนวถนนทางหลวง 331 จากนั้นเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้เข้าสู่แนวถนน 331 เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แนวถนนระยอง 3013 แยกปากร่วม จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณทางเข้าออก เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค รวมระยะทาง 42 กม.

มี 29 สถานี 4 ลานจอดแล้วจร รองรับ 125 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นระบบรถโดยสารไฟฟ้า EV bus ราคาค่าโดยสาร กม.ละ 1 บาท เริ่มต้น 10-45 บาท มีผู้โดยสารในปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 เที่ยวคน/วัน

ระยอง
จ.ระยอง เลือกแนวนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เริ่มต้นที่ทางเข้า-ออก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนถนนสุขุมวิท ผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง จุดตัดสี่แยกตลาดมาบตาพุด สะพานข้ามคลองน้ำหู กม.214+195

จากนั้นเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จุดตัดสามแยก บริเวณโรงพยาบาลระยอง ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำระยอง กม.222+306 ผ่านปั๊มน้ำมันไออาร์พีซี สวนสุขภาพ เชิงเนิน ไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ทางเข้า-ออก เขตประกอบการอุตสาหกรรม บมจ.ไออาร์พีซี ระยะทาง 18.89 กม.

มี 22 สถานี 4 ลานจอดรถ รองรับได้ 350 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 เที่ยวคน/วัน

เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปีนี้ เพื่อรองรับคลื่นคนและการเดินทางที่จะไหลไปยัง 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี ว่าที่ศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่านเพิ่มเติม