บทความ

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2561

อสังหาฯ จะปรับตัวอย่างไรเพื่อผู้สูงอายุ

แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ


คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ

 

ตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ หรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 16% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ตอนนี้ประเทศไทยจึงเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย และจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ในปี 2574 ประชากรไทยกว่า 30% จะมีอายุมากกว่า 60 ปี กลายเป็นสังคมสุงวัยระดับสุดยอด ประกอบกับตลาดผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในเทรนด์ระดับโลกที่นักการตลาดทุกวงการธุรกิจพูดถึงต่อเนื่องมาหลายปี แต่ในตอนนี้จะยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในประเทศ เนื่องจากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เตรียมแผนธุรกิจรองรับการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุ


คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ

รูปภาพจาก สสส. (www.thaihealth.or.th/Content/36733-สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย)


อสังหาฯ จะปรับตัวอย่างไรเพื่อผู้สูงอายุวัยเกษียณ


ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ที่ผ่านมามีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือเป็นโครงการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุทยอยเปิดตัวให้เห็นกันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบของบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัด เจาะกลุ่มผู้สูงอายุไทยวัยเกษียณโดยเฉพาะ


หรืออีกรูปแบบของที่อยู่อาศัยที่ควรพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุ คือ ที่อยู่อาศัยใกล้โรงพยาบาล ใกล้สวนสาธราณะหรือที่อยู่อาศัยที่เดินทางไปหาลูกหลานได้ง่าย ใกล้ครอบครัวของลูกๆ ก็น่าจะเป็นอีกรูปแบบที่อยู่อาศัยสำหรับสังคมผู้สูงอายุจะไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในบ้านพัก เพียงแต่ว่าปัจจุบันยังไม่ได้รับการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุให้ชัดเจนในด้านฟังก์ชั่นเท่าที่ควร แต่จากการที่มีกระแสการพัฒนาเพื่อผู้สุงอายุมากขึ้นในยุคนี้ คาดว่าน่าจะเห็นผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นำแนวคิดการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุเข้ามาผนวกกับที่อยู่อาศัยมากขึ้นแน่นอน


โดยหลักการออกแบบเบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรคำนึงถึงการป้องกัน ลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายและสะดวกขึ้นด้วย อย่างเช่นความต้องการในห้องพักอาศัยออกแบบให้มีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือกริ่งเตือนภัยภายในห้องพัก, ราวจับเพื่อพยุงตัวเวลาลุก หรือเวลาเดินในห้องน้ำ, วัสดุปูพื้นกันลื่น, ลูกบิดประตูแบบก้านโยกเพื่อให้สะดวกแก่การเปิดปิด, ระดับสูง-ต่ำเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง, ความกว้างของประตูห้อง และช่องว่างของสิ่งของที่จัดวางภายในห้องสามารถให้รถเข็น หรือกว้างพอให้เคลื่อนตัวได้ เป็นต้น นอกจากนั้นหากเป็นพื้นที่ส่วนกลางก็ควรมีห้องกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เพิ่มราวจับและปูด้วยวัสดุกันลื่น และลดการเปลี่ยนระดับ หรือเพิ่มทางสัญจรด้วยทางลาดเพื่อให้เดินทางไปพื้นที่ส่วนต่างๆได้อย่างต่อเนื่อง สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยตัวเอง


คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ

 

ชาวต่างชาติวัยเกษียณ มีส่วนร่วมในอสังหาฯ ไทย


นอกจากนั้นกลุ่มชาวต่างชาติวัยเกษียณ ที่มองหาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จากผลการสำรวจ 10 ประเทศที่มีการขอวีซ่าลองเสตย์เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทยมากที่สุดได้แก่ อังกฤษ , อเมริกา , เยอรมนี , ญี่ปุ่น , สวิตเซอร์แลนด์ , ออสเตรเลีย , นอร์เวย์ , ฝรั่งเศส , สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 73.8 ของผู้ยื่นขอวีซ่าทั้งหมดในปี 2556


ทำให้ที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยวหลักจะขายได้ดีในกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา นครราชสีมา (เขาใหญ่) และ ชายทะเลที่มีชื่อเสียง เช่น หัวหิน ชะอำ โดยอาคารชุดจะขายดีในเมืองท่องเที่ยวชายทะเล ส่วนบ้านแนวราบจะขายดีในเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเชียงใหม่ แต่ในทางกลับกันกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติบางส่วนให้ความนิยมในการเช่ามากกว่าซื้อขาย โดยนำเงินบำนาญส่วนใหญ่มาใช้เพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทยแทน ส่วนเหลือค่อยนำไปเช่าที่อยู่อาศัยที่เป็นคอนโดหรืออาคารชุดพักอาศัยที่เปลี่ยนไปตามทำเลที่ต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนแทนการพักตามรีสอร์ทหรือโรงแรมราคาแพง

 

ซึ่งเหตุผลที่ผู้สูงอายุชาวต่างชาติเลือกไทยเป็นประเทศอยู่อาศัยในวัยเกษียณ เพราะไทยมีข้อได้เปรียบมากขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ค่าครองชีพที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในประเทศที่พัฒนาแล้ว, ด้านธุรกิจการบริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐาน, ราคาอสังหาฯที่ถูกว่าประเทศอื่นๆ, วัฒนธรรมที่เป็นมิตร, ภูมิอากาศเขตร้อนที่ไม่หนาวจนเกินไป รวมไปถึงการขอวีซ่าสำหรับวัยเกษียณที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก


คอนโดเพื่อผู้สูงอายุ


สรุป

เนื่องจากในอนาคตประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ที่อยู่อาศัยในเมืองที่ใกล้โรงพยาบาลที่มีความสะดวกในการเดินทางไปรักษาตัว ที่อยู่อาศัยที่ใกล้สวนสาธารณะเพื่อสะดวกในการออกกำลังกายเบาๆในชีวิตประจำวัน รวมถึงทำเลที่ลูกหลานเดินทางมาหาสะดวก น่าจะเป็นทำเลหลักที่ผู้สูงอายุสนใจและเลือกอยู่อาศัย ประกอบกับมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุวัยเกษียณสัญชาติไทย (Reverse Morgate) รองรับผู้สูงอายุที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยใหม่ในบั้นปลายชีวิตเพิ่มเติมจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไป นอกจากนั้นในไทยเองก็ไม่ได้มีแต่ผู้สูงอายุชาวไทยเท่านั้น ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติวัยเกษียณด้วย โดยอสังหาฯที่โดนใจผู้สูงอายุชาวต่างชาติวัยเกษียณส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลของชายทะเลที่มีชื่อเสียง และจังหวัดหัวเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นที่พักผ่อนระยะยาวหลังเกษียณ ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มตระหนักถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผ่านการออกแบบฟังก์ชั่นในที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ โดยจะให้รายละเอียดในบทความถัดไป

 

ท่านสามารถอ่านบทความดีๆ จากทีมงาน BC เพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bkkcitismart.com/บทความ



อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

10 จุดเด่น การออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ

ทำไมต้องคอนโดใกล้โรงพยาบาล ?

 

 

อ่านเพิ่มเติม