บทความ

วันที่ 9 ตุลาคม 2560

รู้ทันดอกเบี้ย ความต่างดอกเบี้ยเงินกู้

คุณเหมาะกับดอกเบี้ยเงินกู้แบบไหน ? ดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ VS. ดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว

 
 

 

ในการซื้อบ้านหรือคอนโดต้องใช้เงินก้อนโต หลายคนจึงกู้สินเชื่อในการซื้ออสังหาฯนั้นๆ อย่างที่เรารู้กันว่าเงินกู้ต้องมาคู่กับดอกเบี้ย ทำให้มีเรื่องของดอกเบี้ยมาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ Bangkok Citismart จะอธิบายเกี่ยวกับความต่างของอัตราดอกเบี้ยแต่ละแบบเพื่อเป็นความรู้ก่อนไปกู้สินเชื่ออสังหาฯครับ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ



อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ หรือ Fixed Rate


เป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตายตัวว่าต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่าไหร่จนจบสัญญานั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจหรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ทำให้ผู้กู้สามารถประเมินและวางแผนการเงินของตัวเองได้



อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว หรือ Floating Rate


คืออัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปตามต้นทุนของธนาคารแต่ละแห่ง โดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Reference Rate) เป็นตัวกำหนด จึงเกิดความยืดหยุ่นของอัตราการจ่ายดอกเบี้ย คือ ในปีที่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลดลง จะทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยถูก ปีไหนอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสูงขึ้น ก็จะทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นไปด้วย อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบ่งเป็น 3 ประเภทตามกลุ่มลูกค้า คือ


  • MOR (Minimum Overdraft Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) เพื่อหมุนเวียนธุรกิจ
  • MLR (Minimum Loan Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำเรียกเก็บลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เหมาะกับวงเงินกู้ระยะยาว มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  • MRR (Minimum Retail Rate) เป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำเรียกเก็บลูกค้ารายย่อยชั้นดี ซึ่งลูกค้าหลายย่อยหมายถึง บุคคลทั่วไป จึงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต เป็นต้น



 

ดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในไทย


ส่วนใหญ่การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารในประเทศไทย จะมีลักษณะดอกเบี้ยเงินกู้เป็นแบบ อัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก จากนั้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น


  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรก + อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี และจากนั้นจะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ไปวัดดวงกันตอนท้ายว่าลอยตัวแล้วจะดอกสูงจะหรือต่ำ
  • อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันใดในช่วงแรก + อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เงินกู้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะสั้นประมาณ 1-5 ปี แต่ในระหว่างนี้ อาจกำหนดคงที่แบบขั้นบันได เช่น คงที่ 2 ปี ปีแรกเท่ากับ 3% ปีที่สอง 4% เป็นต้น แต่หลังจากนั้น จะปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว


สาเหตุที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงแรก เนื่องจากธนาคารสามารถคาดการณ์แนวโน้มของดอกเบี้ย และวางแผนเงินทุนของธนาคารได้ รวมถึงตัวของผู้กู้เองก็สามารถวางแผนการผ่อนชำระได้เช่นกัน ปีหลังๆ จึงเปลี่ยนมาใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว ซึ่งใช้ทั้ง MLR และ MRR ในการคำนวณ โดยแต่ละธนาคารมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน เราจะสามารถเข้าไปดูอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ได้จากเว็บไซต์ของแต่ละธนาคาร หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/in_rate.aspx)



 

อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ปี 2541-2560 ประจำเดือนกันยายน เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ

เรียบเรียงข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย



ในขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่ต่างกันแต่ละธนาคารแล้ว ลูกค้าคน 2 คนเดินเข้าไปที่ธนาคารแห่งเดียวกันเพื่อไปขอสินเชื่อประเภทเดียวกัน ก็อาจจะได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ไม่เท่ากัน เป็นเพราะลูกค้าแต่ละรายมีความเสี่ยงของการกู้ยืมที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายได้, ความสามารถในการชำระหนี้, ประวัติการชำระหนี้, ภาระหนี้สินในปัจจุบัน (เครดิตบูโร), หลักทรัพย์ค้ำประกัน (ปัจจุบันนิยมให้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในการประกัน) ซึ่งจุดนี้เองเวลาธนาคารจะเลือกเสนอดอกเบี้ยให้กับลูกค้าจะมีตัวเลขบวกหรือลบต่อท้าย เช่น MLR + 1% หรือ MRR – 2% จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า





คุณเหมาะกับดอกเบี้ยแบบไหน ?


และถ้าถามว่าดอกเบี้ยแบบไหนดีกว่ากัน แนะนำว่าสังเกตุจากสถานการณ์ดอกเบี้ยครับ ซึ่งสถานการณ์ดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในช่วงขาลง เกือบจะคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นสูงมาก (เทียบย้อนหลังไป 20 ปี ตั้งแต่ปี 2541-2560) เป็นไปได้ยากที่จะต่ำไปมากกว่านี้ ทางที่ดีควรจะเลือกสินเชื่อที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ในระยะยาวๆก่อน เพื่อรักษาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ไว้


ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง ผ่อนสินเชื่อกับธนาคารตลอดจนครบจำนวน อาจจะเหมาะกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะแรกครับ เพราะคุณสามารถคำนวณและวางแผนการเงินของคุณในการจ่ายดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เท่าเดิมตลอดตามงวดที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา (ส่วนใหญ่ 3 ปี) หลังจากนั้นคุณอาจจะรีไฟแนนซ์เพื่อไปยื่นขออัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งจะเข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในตอนนั้นได้ด้วย ไม่ต้องจ่ายเงินตามอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่เราวางแผนการจ่ายเงินไม่ได้


บางธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันใดในช่วงแรก หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัวที่มีตัวเลขบวกต่อท้ายสูงๆ ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจผ่อนกับธนาคารตลอดตามสัญญา หรือเป็นกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ ที่จำกัดช่วงเวลาการถือสิทธิและต้องการขายต่ออยู่แล้ว คุณอาจจะเหมาะกับการกู้สินเชื่อแบบนี้ เนื่องจากคุณจะจ่ายดอกเบี้ยน้อยในปีแรกๆ ที่คุณถือครองสิทธิ์อยู่เท่านั้น หลังจากขายโอนสิทธิไปแล้ว ก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในส่วนที่สูงขึ้น




 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีควรดูดอกเบี้ยเงินกู้ตลอดทั้งสัญญา และคำนึกถึงแผนการเงินเพื่อผ่อนชำระดอกเบี้ยของคุณด้วย

อ่านเพิ่มเติม